โครงการศาสนสถานโดย Adjaye Associates ที่เชื่อมโยงคนจากสามศาสนา ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนายิว เพื่อร้อยเรียงความแตกต่างของความเชื่อเข้าไว้ด้วยกัน
Category: UPDATE
HIGHLIGHT ACTIVITIES
งานสถาปนิก ’66 ‘ตำถาด : Time of Togetherness’ เริ่มต้นไปแล้วอย่างคึกคัก งานอัดแน่นจัดเต็มด้วยกิจกรรม งานเสวนา นิทรรศการ และบูธดีไซน์จัดจ้าน ใครที่กำลังเลว่าจะไปงานดีหรือเปล่า ก็ลองมาดูไฮไลท์ของงานกันก่อนได้เลย
Read More
CPAC GREEN SOLUTION
พบกับมิติใหม่ของการก่อสร้างครบวงจร กับบูธ CPAC Green Solution ที่จัดแสดงนวัตกรรมการก่อสร้างสุดล้ำต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Read More
THE ROBOT’S CHALLENGE: THE OTHER’S (POST?)MODERN
ชมชน ฟูสินไพบูลย์ พาเราไปทำความรู้จักกับ ‘ตึกหุ่นยนต์’ ก่อนที่หน้าตาอาคารจะเปลี่ยนไป และชวนให้เราเห็นความสำคัญของอาคารในฐานะอาคารจากประเทศ ‘โลกที่ 3’ ที่ท้าทายแนวคิดการออกแบบในวงการสถาปัตยกรรมโลก
Read More
WOODDEN THEMATIC PAVILION
ทำความเข้าใจการใช้ไม้อย่างยั่งยืนผ่านการออกแบบบูธ WOODDEN หนึ่งใน Thematic Pavilion ของงานสถาปนิก’66 ที่ PAVA Architects ออกแบบให้คล้ายป่าขนาดย่อมที่แสดงกระบวนการแปรรูปไม้สักตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ Read More
THEMATIC PAVILION
สำรวจไฮไลท์ประจำงานสถาปนิก’66 อย่าง ‘Thematic Pavilion’ อันเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่จัดแสดงสินค้าจากการนำวัสดุก่อสร้างมาตีความพื้นที่ผ่านมุมมองของนักออกแบบ เพื่อก่อให้เกิดจินตนาการในการใช้วัสดุผ่านความคิดสร้างสรรค์พร้อมทั้งสร้างประสบการณ์แบบใหม่ให้ผู้ที่มาร่วมชมงาน
Read More
LONG GOY
Sher Maker ออกแบบโรงตัดเย็บใหม่ของ LONG GOY แบรนด์เสื้อผ้าจากเชียงใหม่ที่ถ่ายทอด ‘ความเป็นท้องถิ่น’ อันเป็นจุดร่วมสำคัญของทั้งตัวแบรนด์และสถาปนิก Read More
FIELD COLLAPSE
หลังจากคุ้นเคยกับการทำงานสถาปัตยกรรมเป็นอย่างดี สตูดิโอ thingsmatter ก้าวขามารับบทบาทศิลปิน และสร้างผลงานจาก ‘เหล็กข้ออ้อย’ เพื่อนำเสนอประเด็นทางสังคมในวงการออกแบบ
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
เหล็กข้ออ้อย แผ่นไม้อัด ยาง ตะปู สกรู และแสงเสียง คือวัสดุของผลงาน installaion ชิ้นใหญ่ คับพื้นที่ 100 Tonson Foundation ที่ให้ความรู้สึกต่างออกไปจากนิทรรศการศิลปะ นอกไปเหนือจากความ “หนักและดิบ” ของวัสดุ art4d พูดคุยกับ ศาวินี บูรณศิลปิน และ Tom Dannecker แห่ง thingsmatter ถึงประเด็นและความคิดอื่นๆ ที่แฝงอยู่ภายในนิทรรศการ Field Collapse
“Fragments ที่หน้างานก่อสร้าง ไม้แบบ คนงานในไซท์ สำหรับเรามันสวยงามและ conceptual มาก ทั้งในแง่ที่มันเป็น artifact และเป็น happening” ศาวินีมองกระบวนการก่อร่างสร้างตัวของงานสถาปัตยกรรมเป็น performance ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่จะหายไป
“ตั้งแต่ตอนเรียนแล้ว ผมเป็นพวกที่ไม่ทำงานในสตูดิโอที่คณะ แต่ชอบหมกตัวในหอพักมากกว่า (…) เพื่อนที่หอซึ่งเรียนคณะอื่นก็ชอบถามว่าผมทำอะไร ผมออกแบบโรงเรียนศิลปะ พอบอกไปเพื่อนๆ ก็ตื่นเต้นกันใหญ่และถามต่อว่ามันจะสร้างเมื่อไหร่ ผมก็บอกว่ามันจะไม่ได้สร้างหรอก (หัวเราะ)” Tom พยายามอธิบายกับ art4d ว่าบทสนทนานี้มีความหมายซ่อนอยู่ นั่นคือความต่างระหว่างงานของสถาปนิกกับงานสายอื่นๆ “โมเดลของที่เพื่อนคนอื่นตั้งใจทำเพื่อเป็นแบบสำหรับสร้างงานจริงๆ แต่ไอ้โมเดลที่ผมเดินถือไปส่งอาจารย์ มันไม่ใกล้เคียงกับผลลัพธ์สุดท้ายของงานสถาปัตยกรรมแม้แต่น้อย สำหรับผม สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่แบบหรือ representation แต่มันเป็นงานศิลปะในตัวมันเอง”
ทั้งสอง narrative นี้ดูเหมือนจะต่างแต่ก็มีจุดร่วมเดียวกันคือการให้ความสำคัญกับ กระบวนการ (process) และผลงานในระหว่างกระบวนการ (work in progress) หรือพูดอีกอย่างคือช่วงเวลาที่มี engagement ของผู้ออกแบบเข้มข้นมากที่สุด (แน่นอนว่ามากกว่าตอนที่งานสร้างเสร็จ) ซึ่งไอเดียที่ว่ามานี้ค่อยๆ สั่งสมจนกระทั่งมาถึงจุดพีคในปีนี้ กับโปรเจ็คต์ที่ 100 Tonson Foundation
thingsmatter ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโครงการออกแบบสถาปัตยกรรม นั่นคือการใช้เหล็กข้ออ้อยไป 5 ตัน กับโครงสร้างที่ไม่ได้มีฟังก์ชันซับซ้อน “เรียกได้ว่า luxury สุดๆ ถ้ามองจากมุมมองงานออกแบบที่ต้องคิดเรื่องความคุ้มค่า กับ Field Collapse เราแค่อยากให้คนมาดูได้ slow down ค่อยๆ เคลื่อนๆ ไปใน space แคบๆ นี้ ท่ามกลางเมืองกรุงที่เร่งรีบและวุ่นวาย”
โครงสร้างถูกวางติดประชิดทางเข้าห้องแกลเลอรี่ ทางเดินแคบๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในป่า พาคนเดินขึ้นไปหาจุดกำเนิดแสงเพียงหนึ่งเดียวของของห้องนิทรรศการนั่นคือ skylight และวนลงมาที่พื้นที่ว่างด้านหลัง ที่ถูกถูกเว้นไว้เพื่อให้มีระยะที่สามารถมองย้อนกลับไปมองโครงสร้าง และใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป และงานเสวนา “เราอยากให้คนมองเห็น movement ของคนอื่นที่ค่อยๆ เคลื่อนไปในความปรุโปร่งของโครงสร้าง ให้คนดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน” thingsmatter บอกกับ art4d
แล้วทำไมต้องเหล็กข้ออ้อย? เหตุผลง่ายๆ ตรงๆ ที่ทั้งสองบอกกับ art4d คือว่า ในโลกแห่งความจริงมันคือผู้ปิดทองหลังพระแห่งวงการ (อันต้องถูกปูนเททับทุกครั้งไป) มาในครั้งนี้เขา (เหล็กข้ออ้อย) รับบทเป็นพระเอกหลักในการสื่อสารประเด็นทางสังคมวงการออกแบบหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ ชนชั้นของตำแหน่งงานและบุคลากรในงานสถาปัตยกรรม Tom อธิบายต่อว่า “สมมติว่าเราทำงานด้วยกัน คุณเป็นนักออกแบบ แต่ผมดูด้าน business อีกคนทำ shop drawing คนอีกกลุ่มใหญ่ๆ นั่นคือช่างก่อสร้าง มันจะต้องมีคนคิดว่า คนที่ออกแบบเนี่ยมันต้องสำคัญที่สุด แต่ขอโทษเถอะ ถ้าไม่มีคนทำด้าน business มันก็อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีช่างก่อสร้าง คนงาน ตึกก็สร้างไม่เสร็จ” สรุปออกมาง่ายๆ ว่า stakeholder ทั้งหมดทั้งมวลนั้นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ทุกๆ องค์ประกอบมีหน้าที่ของตัวเองที่จำเป็นต่อการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และธุรกิจองค์รวมของงานสถาปัตยกรรม และพวกเขาหวังว่าการเอา work in progress มาโชว์ในรูปแบบของงานที่เสร็จสมบูรณ์จะทำให้คนดูมองเห็นประเด็นนี้
อีกหนึ่งประเด็นที่ art4d คุยกับ thingsmatter คือการทำงานในบริบทที่ต่างออกไป
Field Collapse ไม่ใช่งาน installation ชิ้นแรกของ thingsmatter พวกเขาทำงานที่ก้ำกึ่ง และสามารถเป็นอะไรได้หลายอย่าง (เช่น ประติมากรรม) นอกเหนือจากการเป็นสถาปัตยกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผลงานโครงสร้างไม้ไผ่ Ligature ที่ Jim Thompson Farm จังหวัดนครราชสีมา และลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในปี 2018 (และอันที่จริงเราอาจจะเห็นเค้าโครงของ Field Collapse ตั้งแต่งาน Caged Flower ที่เหมือนเป็นการทดลองสร้างโครงสร้างรับน้ำหนักด้วยเหล็กข้ออ้อยล้วนๆ ในงานสถาปนิกปี 2017) ที่ต่างออกไปคือครั้งนี้เป็นโปรเจ็คต์กับสถาบันศิลปะอย่าง 100 Tonson Foundation
“ที่ผ่านมา thingsmatter ทำงานที่มีความคาบเกี่ยวมาตลอดนะ ภาพลักษณ์ในวงการสถาปัตยกรรม thingsmatter มีความศิลปะมากๆ แต่พอก้าวเข้ามาในแกลเลอรี่เราเป็น ‘คนนอก’ ทันที” ศาวินี บอกกับ art4d ว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญๆ ที่ thingsmatter พัฒนาโปรเจ็คต์ และตัดสินใจส่ง proposal ไปยัง 100 Tonson Foundation ที่เปิด open call โปรเจ็คต์ศิลปะเมื่อปีที่แล้ว คือพวกเขาต้องการทะลุไปยังพื้นที่การทำงานศิลปะ
“เราต้องการสิ่งนี้ เราต้องการ 100 Tonson Foundation ในฐานะ established art institution ที่จะมาบอกว่างานที่เราทำมันเป็นศิลปะ” ศาวินี กำลังพูดถึง authority ของสถาบันศิลปะในการสถาปนาว่าอะไรเป็นศิลปะหรือไม่เป็นศิลปะ ดังนั้นสำหรับพวกเขา ถ้าถามว่าความท้าทายของการทำงานกับบริบท white cube คืออะไร? มันจึงไม่ใช่แค่ความ craft ในการเขียนแบบเป็นร้อยๆ แผ่น ขั้นตอนการติดตั้งที่ยุ่งยากและข้อจำกัดในการทำงานกับพื้นที่ แต่เป็นช่วงเวลาก่อนที่จะเริ่มทำงานจริงซึ่งก็คือขั้นตอนการพัฒนาไอเดียเพื่อ pitch โปรเจ็คต์แข่งกับศิลปินและคิวเรเตอร์
อีกองค์ประกอบในนิทรรศการที่ต่างออกไปจากงานของ thingsmatter ชิ้นก่อนๆ คือวิธีการกำหนดปฏิสัมพันธ์ที่คนดูจะมีต่อแบบก่อสร้าง
“เรามานั่งคิดกันว่าจะใช้พื้นที่ห้องนิทรรศการห้องเล็กยังไงดี โดยรวมๆ แล้วไอเดียคือเราอยากเอาทุกอย่างมากางบนโต๊ะในวิธีที่ต่างออกไป” ศาวินี กล่าวก่อนที่ Tom จะเสริมว่า “ถ้าเราเอาแบบก่อสร้าง 100 แผ่น มาโชว์ คนดูจะอ่านมันในแบบที่อ่านแบบสถาปัตยกรรม แต่ครั้งนี้เราอยากให้คน appreciate แบบก่อสร้างในฐานะ artifact มากกว่า” สำหรับพวกเขา การเอาแบบก่อสร้างมาใส่กรอบจะเปลี่ยนฟังก์ชั่นของแบบก่อสร้างไปจากฟังก์ชันเดิม หรือพูดอีกแบบก็คือ ทำให้แบบก่อสร้างไม่มีฟังก์ชันสำหรับสร้างแต่กลายเป็นภาพคอลลาจชิ้นนึงไป ไอเดียนี้ยังต่อเนื่องไปเป็นผ้าพันคอที่เป็น exhibition merchandise ของนิทรรศการนี้
ท้ายที่สุดแล้ว Field Collapse จะเป็นสถาปัตยกรรม หรือศิลปะ เหนือไปกว่า authority ของสถาบันศิลปะคือเป็นอำนาจของคนดูเองว่าจะรับรู้ installation ชิ้นนี้ในฐานะอะไร แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า Field Collapse ให้ความรู้สึกที่ต่างออกไปจากนิทรรศการศิลปะที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานกับพื้นที่แกลเลอรี่ในเชิงปริมาตร ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับชิ้นงานที่ดูจะใกล้ชิดกว่าศิลปะทั่วๆ ไป การเปลือยให้เห็นสัจจะของวัสดุ รวมถึงความหลากหลายของกิจกรรมที่จัดขึ้นในตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา Field Collapse เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในฐานะสถานการณ์ใหม่ของห้องจัดแสดงศิลปะเมื่อมันตกอยู่ในมือของสถาปนิก
Field Collapse โดย thingsmatter จัดแสดงถึงวันที่ 28 พฤษภาคมนี้ ที่ 100 Tonson Foundation เวลาทำการ วันพฤหัสบดี – วันศุกร์ เวลา 10.00 – 18.00 น. และ วันเสาร์ – วันอาทิตย์ เวลา 11.00 – 19.00 น.
instagram.com/thingsmatterbkk
thingsmatter.com
facebook.com/100TonsonFoundation
ANUBAN SAMUTSAKHON SCHOOL
Context Studio นำเสนอภาพใหม่ของโรงเรียนรัฐด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน ผ่านคอนเซ็ปต์หลักอย่าง ‘ทะเล’
TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: DOF SKY|GROUND
(For English, press here)
ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นโรงเรียนรัฐบาล ทุ่มทุนสร้างไปกับการออกแบบและตกแต่งด้านสถาปัตยกรรม เพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการเล่นของเด็กๆ เหมือนอย่างโรงเรียนเอกชน แต่โรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัดสมุทรสาคร หรือที่รู้จักกันในชื่อ โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร แห่งนี้ กลับให้ความสำคัญและกล้าที่จะทุ่มงบประมาณไปกับการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงเรียน จนผู้ปกครองหรือใครหลายคนที่ได้พบเห็น ก็เป็นต้องตั้งคำถามเป็นคำถามเดียวกันว่านี่คือพื้นที่ภายในโรงเรียนรัฐบาลจริงๆ หรือ
ต้น-บดินทร์ พลางกูร จาก Context Studio ผู้ออกแบบเริ่มเล่าให้เราฟังถึงบทสนทนากับ ผอ. โรงเรียน ว่า “ตอน ผอ. โรงเรียนติดต่อเข้ามาก็รู้สึกแปลกใจเหมือนกัน เพราะสำหรับผมและหลายๆ คน น่าจะคิดคล้ายกันว่าคงไม่ค่อยมีโอกาสเห็นโรงเรียนรัฐฯ นำงบประมาณมาใช้กับเรื่องนี้บ่อยๆ หรืออาจไม่เคยมีเลยก็ได้ พอได้คุยกับ ผอ. จริงจังก็เลยรู้ว่าการปรับปรุงโรงเรียนในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของผู้ว่าประจำจังหวัด เค้าอยากเห็นโรงเรียนประจำจังหวัดของเขามีพื้นที่การเรียนรู้ที่ดี ซึ่งมันจะเป็นผลดีต่อเด็กๆ ในจังหวัดและสุดท้ายก็เป็นหน้าเป็นตาให้จังหวัดไปด้วย ส่วน ผอ. ก็คิดเหมือนกันว่าอยากให้พื้นที่ภายในโรงเรียนสามารถเป็นพื้นที่ที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ ได้ออกไปเจอกับโลกกว้างนอกรั้วโรงเรียนได้ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กๆ ด้วยว่ากำลังเรียนอยู่หรือเคยเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้”
จากประโยคบอกเล่าสั้นๆ ช่วงท้ายของ ผอ. นี่เอง ทีมดีไซเนอร์ได้หยิบใจความด้านการเตรียมความพร้อมเด็กๆ ให้ออกไปสู่โลกกว้าง มาใช้กับการออกแบบในครั้งนี้ โดยเปรียบเปรยว่าการออกไปสู่โลกกว้าง ก็เหมือนกับการเตรียมตัวออกเรือสู่ทะเล ซึ่งเมื่อพูดถึงทะเลขึ้นมาแล้ว แนวคิดนี้ก็ยังมีความสอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมของจังหวัดและตำแหน่งที่ตั้งของโรงเรียน ที่อยู่ห่างจากปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนเพียง 200 เมตร หรือจะเรียกว่าอยู่เกือบริมอ่าวเลยก็ไม่ผิด การออกแบบครั้งนี้จึงถ่ายทอดผ่านองค์ประกอบของแม่น้ำเป็นหลัก โดยพื้นที่ภายในโรงเรียนที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่ห้องเรียนอเนกประสงค์อย่างที่เราเห็นกัน แต่ยังรวมไปถึงโถงใต้อาคาร และห้องพักครูด้วย
“สำหรับโปรเจ็คต์นี้ ส่วนที่เป็นไฮไลท์ที่สุดก็คือห้องเรียนอเนกประสงค์ หรือที่ครูในโรงเรียนเรียกกันว่า ห้องพรีเซนเทชัน ซึ่งจะเป็นห้องเรียนที่ถูกจัดตารางให้เด็กๆ สลับกันเข้ามาใช้งานตามความเหมาะสมของรายวิชา และด้วยการใช้งานที่จะถูกเน้นให้เป็นห้องสำหรับนำเสนองานผ่านจอโปรเจ็คเตอร์ หรือกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงเป็นส่วนใหญ่นั้น พวกเราก็เลยพยายามออกแบบ surface ของผนังและเพดานภายในห้องให้สามารถช่วยซับเสียงได้ พอนำมาโยงกับคอนเซปต์ที่เราตั้งไว้เกี่ยวกับแม่น้ำ เพดานของห้องก็เลยมีลักษณะเป็นคลื่นน้ำอย่างที่เห็น แต่มันจะเป็นคลื่นที่ดูโหดร้ายนิดนึง (หัวเราะ) เพราะอยากให้มันช่วยซับเสียงได้จริงๆ” บดินทร์เล่าถึงแนวคิดการออกแบบพื้นที่ในส่วนแรก
โดยในแง่ของการออกแบบและผลิตเกลียวคลื่นที่ดูโหดร้ายนี้ให้สามารถใช้งานได้จริงก็ไม่ง่ายเลย เพราะเกลียวคลื่นที่เกิดขึ้นจะต้องมีระยะห่างของคลื่นแต่ละลูกที่ค่อนข้างถี่ ดีไซเนอร์จึงออกแบบด้วยการปั้นฟอร์มคลื่นในโปรแกรม Rhino ขึ้นมาทั้งหมด 16 แบบ โดยแต่ละแบบจะมีรูปทรงของคลื่นที่แตกต่างกัน และมีระยะของคลื่นแต่ละลูกที่ถี่พอจะช่วยลดการเกิดเสียงก้องภายในห้องได้ตามตั้งใจ ก่อนจะนำดิจิตอลไฟล์ทั้งหมด 16 แบบนั้น มาผลิตเป็นแม่แบบผ่านกระบวนการ CNC สำหรับหล่อวัสดุไฟเบอร์กลาสผสมใยกระดาษ และนำแต่ละ module ที่ได้ มาประกอบเป็นเพดานเกลียวคลื่นในขั้นตอนสุดท้ายอย่างที่เห็น
ส่วนการออกแบบพื้นและวัสดุปิดผิวผนังภายในห้องเรียนอเนกประสงค์ เลือกใช้เป็นวัสดุไม้เทียมโทนสีอ่อน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรให้กับเด็กๆ ขณะที่ไม้ที่ใช้ในการปิดผิวผนังทั้งหมดนั้น ก็ยังถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวร่อง เพื่อเพิ่มเส้นสายที่ดูสนุกมากขึ้นแทนการออกแบบเป็นเพียงห้องสี่เหลี่ยมที่มีพื้นผิวเรียบๆ และแนวร่องก็ยังสามารถช่วยซับเสียงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานห้องเรียนห้องนี้ได้ในเวลาเดียวกัน
สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการปรับปรุงอีกส่วนก็คือห้องพักครู โดยประกอบด้วย ห้อง ผอ. และห้องประชุมคณะครู ถูกออกแบบให้มีโทนสีและการเลือกใช้วัสดุที่เชื่อมโยงกันกับห้องเรียนอเนกประสงค์ คือเลือกใช้วัสดุไม้เป็นหลัก และนำองค์ประกอบของแม่น้ำมาสะท้อนผ่านเพดานที่ถูกออกแบบให้เป็นท้องเรือขนาดใหญ่ ซึ่งการผลิตท้องเรือในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากช่างไม้ต่อเรือฝีมือดีในจังหวัดสมุทรสาครมาช่วยผลิต เป็นการสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมระหว่างจังหวัด โรงเรียน และชุมชน ไปพร้อมๆ กัน ส่วนโถงใต้อาคารที่มักเป็นพื้นที่สำหรับให้เด็กๆ วิ่งเล่นและทำกิจกรรม ออกแบบส่วนฝ้าเพดานให้เป็นหลุมคล้ายท้องเรือ มีส่วนโค้งเว้าของเสาเพื่อลดความแข็งและลดการการเกิดอุบัติเหตุจากการวิ่งเล่นของเด็กๆ ไปจนถึงการปรับปรุงพื้นให้เป็นพื้น terrazzo ที่มีส่วนผสมของวัสดุหินขัดและขยะขวดแก้ว เพื่อนำขยะกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างการตระหนักรู้ต่อการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ
“โปรเจ็คต์นี้เราปรับปรุงไปหลายส่วนแล้วเหมือนกัน ในอนาคตโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร ก็ตั้งใจที่จะปิดปรับปรุงพื้นที่ส่วนอื่นๆ ไปเรื่อยๆ ด้วย ซึ่งผลลัพธ์สุดท้าย ทุกพื้นที่ภายในโรงเรียนก็คงจะออกมาแตกต่างจากโรงเรียนรัฐฯ แห่งอื่นๆ แน่นอน ผมรู้สึกชื่นชมทางโรงเรียนที่เห็นความสำคัญเชิงพื้นที่พอๆ กับหลักสูตรการศึกษา ผมว่าถ้าโรงเรียนรัฐฯ ที่อื่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการปรับปรุงตัวอาคารแบบนี้บ้างก็น่าจะดี”
จากที่บดินทร์ได้แบ่งปันแนวคิดและมุมมองการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาครที่แปลกตาไปจากโรงเรียนรัฐบาลแห่งอื่นๆ ในครั้งนี้ ทำให้พบว่าการจะสร้างโรงเรียนสักแห่งหนึ่ง หรือการจะสร้างผู้ใหญ่จากเด็กสักคนหนึ่งนั้น อาจไม่ได้ถูกอิงจากแค่เรื่องของงบประมาณ หรือหลักสูตรการเรียนเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมุมมองจากผู้ใหญ่ที่มองกลับมายังเด็กยุคใหม่นี้ว่า แท้จริงแล้วเด็กๆ ต้องการที่จะเรียนรู้เรื่องอะไร และหน้าที่ของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหน้าที่ของครู ก็คงจะต้องสังเกตการณ์กับเรื่องนี้เป็นพิเศษ แม้ว่าสถาปัตยกรรมที่ดีอาจไม่ใช่สูตรตายตัวที่จะทำให้เด็กเติบโตมาได้ดี แต่อย่างน้อยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และการเสริมสร้างจินตนาการในรูปแบบต่างๆ ก็คงจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจิตใต้สำนึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ได้ดีกว่าการนั่งเรียนอยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมมืดๆ อย่างแน่นอน
HORIZON : CAFE & RESTAURANT
โครงการปรับปรุงอาคารเก่าริมแม่น้ำกกให้กลายเป็นคาเฟ่โดย ALSO design studio ที่หยิบเอาสิ่งที่โดดเด่นเดิมในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้เดิม โรงจอดรถ และบ้านเก่า เพื่อนำเสนอบรรยากาศของการพักผ่อนสบายๆ ให้กับผู้ใช้งาน
TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO: PATIWETH YUENTHAM EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ในพื้นที่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายออกไปทางตะวันออกริมแม่น้ำกก เป็นที่ตั้งของ Horizon : Cafe & Restaurant โครงการปรับปรุงอาคารเก่าเป็นคาเฟ่ที่ออกแบบโดย รัชต์พล บัวจ้อย ที่พื้นเพเป็นคนเชียงรายแต่ปัจจุบันเปิดออฟฟิศ ALSO design studio ที่เชียงใหม่ สำหรับโครงการนี้ในตอนแรกเจ้าของไม่ได้บอกความต้องการอะไรเลย มีเพียงแค่โจทย์ว่าต้องการปรับปรุงพื้นที่เป็นคาเฟ่และให้อิสระสถาปนิกออกไอเดียได้เต็มที่ รัชต์พลบอกว่าความอิสระนี้ทั้งง่ายและยากในเวลาเดียวกัน สิ่งที่โดดเด่นและดีอยู่แล้วในพื้นที่จึงกลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้เดิมที่ปลูกอยู่เต็มพื้นที่ โรงจอดรถ และบ้านเก่าหนึ่งหลังที่มีชานด้านหลังเปิดออกไปสู่ที่ว่างริมแม่น้ำกก
การปรับปรุงเริ่มจากการวางผังที่จอดรถใหม่เพื่อเชื่อมอาคารโรงจอดรถเดิมกับบ้านให้เป็นอาคารเดียวกัน และสร้างพื้นที่ service เพิ่มเติมไว้ด้านหลัง โดยอาคารโรงจอดรถถูกปรับปรุงเป็นส่วนทางเข้าและเคาน์เตอร์ชงกาแฟ เมื่อเข้ามาภายในจุดแรกที่เห็นคือพื้นที่นั่งรอเครื่องดื่มทรงโค้ง ที่ตั้งใจให้พื้นที่นี้มีความเป็นประติมากรรมในตัวเอง ซึ่งเปลี่ยนจากความตั้งใจแรกที่สเปซมีช่องแสงเจาะจากด้านบนลงสู่บ่อน้ำล้น ให้ความรู้สึกนิ่งๆ มาเป็นน้ำตกที่ผ่านการทดลองกับผู้รับเหมาก่อสร้างอยู่หลายยก เนื่องจากได้เห็นความงามและมุมมองของแสงในสภาพจริง ถัดเข้ามาเป็นพื้นที่เคาน์เตอร์ชงกาแฟสโลว์บาร์ในส่วนต่อเติมที่มีผนังเป็นกระจกตลอดแนว เป็นเฟรมภาพที่เปิดออกไปเห็นต้นไม้เดิมได้อย่างเต็มที่
พื้นที่ถัดมาเป็นส่วนของอาคารบ้านเดิม สถาปนิกเลือกเอากำแพงแบ่งกั้นห้องออก และเปิดพื้นที่โล่งตามแนวหลังคา โดยแทนที่จะเจาะหน้าต่างขนาดใหญ่เปิดเข้าสู่ต้นไม้เดิมเหมือนในส่วนเคาน์เตอร์กาแฟ สถาปนิกเลือกที่จะเว้าอาคารเป็นคอร์ทภายในอีกฝั่งที่ติดกับที่ดินข้างเคียง โชว์ความดิบของเสาโครงสร้างเดิมและต้นไม้ที่ปลูกใหม่แทน ด้วยอยากให้คอร์ทเล็กๆ นี้สร้างประสบการณ์ของแสงธรรมชาติคนละแบบกับพื้นที่ส่วนแรก พื้นที่ส่วนนี้ใช้โครงสร้างเดิม ผสมกับโครงสร้างใหม่ในส่วนที่นั่งเล่นระดับ
ส่วนชานบ้านเดิมในด้านหลังที่เปิดไปทางที่ว่างริมแม่น้ำกกถูกปรับปรุงโดยเปลี่ยนประตูหน้าต่างเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อพื้นที่ และเก็บสระว่ายน้ำเดิมไว้โดยเปลี่ยนเพียงแค่วัสดุกรุผิว สถาปนิกได้เพิ่มทางลาดด้านข้างเพื่อให้ผู้พิการและผู้สูงอายุเข้าถึงพื้นที่นี้ได้ง่ายจากทางเข้าอาคาร และเพื่อให้เส้นสายตัดกับ mass อาคารด้านนี้ที่ดูทึบตัน ราวจับทางลาดใช้วัสดุเหล็กทำสีสนิมที่ค่อยๆ ไล่เฉดสีมาจากสีผนังก่ออิฐมอญของอาคารเดิมที่ปล่อยเปลือยโชว์อยู่ภายในอาคาร การออกแบบลำดับการเข้าถึงตั้งแต่ทางเข้าไหลไปสู่พื้นที่ด้านหลังและวกกลับมาที่ทางเข้าอีกครั้งผ่านทางลาดช่วยทำให้การสัญจรทั้งหมดลื่นไหล และลูกค้าสามารถเคลื่อนที่เข้าออก และเคลื่อนที่ภายในสเปซได้อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงส่วนงาน landscape ที่คงแนวอุโมงค์ต้นไม้เดิมที่ปลูกเรียงกันอย่างเป็นระเบียบเอาไว้ และมีการปรับเนินดินเพื่อช่วยสร้างจังหวะและความต่อเนื่องของพื้นที่ ตั้งแต่เข้าถึงโครงการ
สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนจากภาพรวมของอาคารทั้งภายนอกและภายในก็คือการให้ความสำคัญในโทนภาพรวมของสีวัสดุ ที่เริ่มต้นจากการนำวัสดุของบ้านเดิมเป็นวัตถุดิบแรก เช่นสีปูนของเสาคอนกรีตเปลือยหรือสีอิฐมอญ หลังจากนั้นจึงเติมสีหรือวัสดุใหม่ให้เข้ากับวัสดุเดิม ซึ่งในขั้นตอนการทำงานจริงนั้นมีการทดสอบสีและทำตัวอย่างวัสดุหลายรอบ เช่น การทดลองทำตัวอย่าง concrete block กว่า 30 ชิ้นเพื่อให้ได้สีที่ลงตัว และทำให้องค์ประกอบอาคารทั้งหมดต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ภายใต้สโลแกนออฟฟิศ ALSO design studio ที่ว่า You are happy, I’m also ที่รัชต์พลบอกว่าแสดงแนวคิดที่ไม่ได้เอาความคิดของสถาปนิกเป็นศูนย์กลางอย่างเดียว แต่แบ่งปันกับทุกคนในการทำงานและผลลัพธิ์สุดท้าย อย่างเช่นที่ Horizon แห่งนี้ที่แม้จะอยู่ไกลจากตัวเมืองเชียงราย แต่ก็เริ่มเป็นที่รู้จักจากกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มทั้งวัยรุ่น กลุ่มผู้สูงอายุที่มานั่งเล่นพูดคุย และกลุ่มครอบครัวที่มาพร้อมเด็กๆ เพื่อมาใช้เวลาพักผ่อนร่วมกัน