ป้ายกำกับ: photography

PHOTO ESSAY: GENESIS

TEXT & PHOTO: THANNOP AUTTAPUMSUWAN

(For English, press here

เคยไหม ที่เราเดินทางไปสถานที่หนึ่ง มองออกไปรอบตัวมีแต่สิ่งที่สวยงามถูกจัดวางได้อย่างน่าประหลาดใจ จนเกิดความสงสัยว่า ธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเองใช่ไหม หรือบางทีโลกเราอาจจะถูกออกแบบและสร้างโดยใครบางคนรึเปล่า?

“IN THE BEGINNING GOD CREATED THE HEAVEN AND THE EARTH”

สมัยเด็กเคยสงสัยว่าโลกนี้เกิดขึ้นมายังไง พอโตขึ้นมาหน่อยก็มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มากมายที่มาอธิบายการเกิดของโลกใบนี้ แต่ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริง

แต่มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาล ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมายหลายภาษา นั่นคือ ‘พระคัมภีร์ไบเบิล’ ประกอบด้วยหนังสือย่อยทั้งหมด 66 เล่ม และเล่มแรกชื่อว่า ‘ปฐมกาล’

ในบทที่ 1 ข้อ 1 กล่าวว่า “ในปฐมกาล พระเจ้าทรงเนรมิตฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก” กล่าวถึงพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างโลกใน 6 วัน พอได้ศึกษาและทำความเข้าใจแต่ละข้อความ จึงเกิดเป็นภาพถ่ายชุดนี้ขึ้น

‘ปฐมกาล’ การสร้างโลกใบนี้ของพระเจ้า

เกิดขึ้น…ตั้งอยู่…ดับไป

_____________

ธัญนพ อัตภูมิสุวรรณ์  จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นช่างภาพสถาปัตยกรรม และทำงานส่วนตัวด้วยกล้องฟิล์มขาวดำ และกระบวนการในห้องมืด

facebook.com/gapjaa
instagram.com/gapjaa_naja
instagram.com/whydoyoulovefilm

PHOTO ESSAY : WAT ARUN

TEXT & PHOTO: TANAGON TIPPRASERT

(For English, press here

ตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน วัดอรุณราชวรารามหรือวัดอรุณฯ เป็นวัดสำคัญที่คนไทยหรือชาวต่างชาติคุ้นเคยกับภาพความสวยงามของพระปรางค์วัดอรุณฯ กันเป็นอย่างดี แต่จริงๆ แล้วมุมมองแปลกใหม่ยังคงมีซ่อนอยู่ให้ได้ค้นหาในทุกๆ ครั้งที่ได้เข้ามาเยี่ยมชม รวมไปถึงบริเวณรอบๆ ที่ยังน่าสนใจและรู้สึกประทับใจทุกครั้งที่ได้มา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ทำให้การเดินชมวัดอรุณฯ เต็มไปด้วยความสนุก น่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ เป็นมุมมองจากเขาสู่เรา เพราะจะมีทั้งการบริการแต่งกายชุดไทยเพื่อให้ความรู้สึกสมจริงเหมือนย้อนเวลากลับไปในยุคเก่า เพิ่มความสนุกสนานในการเดิมชมวัด ถึงแม้ในบางวันที่อากาศอาจจะร้อนมากเป็นพิเศษ แต่นักท่องเที่ยวทุกคนยังดูมีความเพลิดเพลิน รวมไปถึงการเดินทางมายังวัดอรุณฯ ก็มีทั้งทางรถและทางเรือที่บริการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมได้อย่างสะดวก ภาพชุดนี้เลยอยากนำเสนอมุมมองและจังหวะที่พิเศษดูแปลกใหม่ ให้ผู้ชมภาพได้จินตนาการต่อ และอยากให้ความเป็นวัดอรุณฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงอยู่ตลอดไป

__________

ธนากร ทิพย์ประเสริฐ เป็นช่างภาพอิสระและรับถ่ายภาพ wedding มีความสนใจชื่นชอบการถ่ายภาพสตรีทและสารคดี

facebook.com/Tanagon56
instagram.com/tana_gon

OBJECTS

เมื่อภาพวัตถุใดๆ จากศิลปินภาพถ่าย อธิษว์ ศรสงคราม ถูกตัดขาดออกจากบริบททั้งหลาย จึงเกิดเป็นคำถามที่ว่า ‘วัตถุ’ เหล่านี้กำลังแสดงความจริงแท้ของตัวมัน หรือกำลังแสดงสิ่งที่สร้างขึ้นโดยช่างภาพกันแน่

Read More

PHOTO ESSAY : BANGKOK ARCHIVE

TEXT & PHOTO: ULF SVANE

(For English, press here

บางกอกรำลึก เป็นชุดภาพถ่ายที่เล่าเรื่องราวของกรุงเทพมหานคร ความสงสัยและความรักต่อเมืองหลวงแห่งนี้ที่ นำพาเราไปสถานที่อันเก่าแก่เพื่อพูดคุยกับผู้คนที่ดูแลรักษาสถานที่เหล่านั้นให้มีชีวิตชีวาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่เมืองกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพราะการเติบโตของเศรษฐกิจ บางครั้งกิจการร้านค้าและสถานที่เหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านของเมืองโดยเลี่ยงไม่ได้ บางแห่งต้องถูกย้าย บางแห่งอาจต้องปิดตัวลง การเก็บเรื่องราวเหล่านี้ผ่านภาพถ่ายนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ในขณะที่กรุงเทพฯ เริ่มมีการย้ายเข้ามาของผู้อยู่อาศัยมากหน้าหลายตา ส่งผลให้ความทรงจำบางส่วนของสถานที่ ต่างๆ ได้ถูกกลืนหายไป ในเวลาเดียวกัน ราคาบ้านที่สูงขึ้นใจกลางเมืองก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ประชากรส่วนใหญ่เริ่มออกไปอยู่ชานเมืองหรือส่วนอื่นๆ ของประเทศควบคู่ไปกับการย้ายถิ่นฐานของกิจการเล็กๆ หรือกิจการที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ๆ ครอบครัว เพื่อนฝูงใช้เป็นที่พบปะพูดคุย ร้านอาหาร หรือแม้แต่ร้านซักรีดเล็กๆ ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมาก่อน ก็ค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยกิจการร้านค้ารูปแบบใหม่ซึ่งเข้ามากำหนดบรรทัดฐานและวิถีชีวิตของเมือง ณ ปัจจุบัน

บางกอกรำลึกมีความตั้งใจที่จะรักษาความทรงจำและเผยแพร่เรื่องราวของผู้คนในสถานที่ๆ น่าสนใจเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้เราตระหนักได้ว่าเมืองในอดีตเคยเป็นเช่นไรและเราต้องการเห็นเมืองเป็นแบบใดในอนาคต ผ่านการตั้งคำถามว่าเมืองนี้เติบโตอย่างไร โดยเฉพาะในบริบทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางรัฐ เพื่อทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังในการเปลี่ยนแปลง เพราะเสน่ห์ของกรุงเทพฯ คือส่วนผสมของความหลากหลายเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจเมืองแห่งนี้มากขึ้น และสะท้อนถึงอนาคต ของกรุงเทพมหานคร เมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง

_____________

Ulf Svane เป็นช่างภาพมือรางวัลชาวกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ผู้สร้างชื่อเสียงในวงกว้างด้วยผลงานอันโดดเด่น มีความชำนาญในการบันทึกภาพวัฒนธรรม ผู้คน และประสบการณ์เรื่องอาหารการกินออกมาร้อยเรียงเป็นภาพถ่าย ณ ขณะนี้ เขาใช้ชีวิตอยู่ทั้งโคเปนเฮเกน และกรุงเทพมหานคร ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์โดยสื่อชั้นนำที่ได้รับการยอมรับ อาทิ Travel + Leisure, National Geographic, Financial Times และ The Washington Post

bkkarchive.com
ulfsvane.com
instagram.com/ulfsvane

 

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE]

THROUGH THEIR EYES [PEACE CENTRE] review

ศิลปินฝาแฝด Zeharn และ Zeherng บันทึกความทรงจำของห้าง Peace Centre ในสิงคโปร์ที่ปิดตัวลง ผ่านมุมมองที่พิสดารต่างจากคนอื่น นั่นคือจากสายตาของคนหรือตัวการ์ตูนในโปสเตอร์โฆษณา

Read More

PHOTO ESSAY : THE ARCHITECTURE OF DEMOLITION

TEXT & PHOTO: AKAI CHEW

(For English, press here

สิงคโปร์เป็นเมืองที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง ตึกรามอาคารถูกสร้างและพัฒนาขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว ถึงขั้นที่ว่าตึกอายุ 30 ปี ก็ถูกมองว่าควรแก่เวลาสำหรับกับการถูกปรับปรุงพัฒนาใหม่ ที่สิงคโปร์ การทำลายและก่อสร้างเกิดขึ้นอยู่ทุกหนแห่ง คล้ายกับเวลาที่นักมายากลโยนผ้าผืนหนึ่งขึ้นบนฟ้าแล้วก็หายตัวไปทันทีที่ผ้าหล่นลงมา เมื่อนั่งร้านถูกเอาออกไป อาคารเก่านั้นก็ราวกับหายวับไปกับตา นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา อัตราการรื้อถอนอาคารของเมืองพุ่งทะยานขึ้นเป็นสัดส่วนที่สูงจนเหลือจะเชื่อ ในปัจจุบัน สี่ในสิบของอาคารที่สูงที่สุดในโลกที่ได้รับการพัฒนาใหม่อยู่ในสิงคโปร์

ในปี 1960 สิงคโปร์ใช้การพัฒนาพื้นที่เมืองเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจยุคใหม่ ตึกระฟ้าที่เพิ่งสร้างเสร็จส่งสัญญาณถึงยุคสมัยใหม่ของประเทศ หากแต่ในวันนี้ บางส่วนของอาคารเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงไปแล้วเรียบร้อย 

การรื้อถอนและก่อสร้างในสิงคโปร์นั้นเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมพอๆ กับการมีอยู่ของอาคารจริงๆ อาคารหนึ่งเลยก็ว่าได้ ในช่วงไม่กี่ทศวรรษให้หลังมานี้ การพัฒนาอาคารเก่าขึ้นใหม่ และการสูญเสียไปซึ่งสิ่งแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและมนุษย์สร้างนั้น เป็นสิ่งที่พบเห็นและยอมรับได้อย่างไม่ได้มีใครรู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวอะไร มันยังถูกมองว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ วิวัฒนาการของเมือง มันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กับการเจริญขึ้นเป็นเมืองที่ดียิ่งกว่าเดิมของสิงคโปร์ ที่ซึ่งความร่วมสมัยอาจหมายความถึงประวัติศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอีกสิบปีข้างหน้า

ในขณะที่สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุคหลังประกาศเอกราชของประเทศกำลังถูกลบทิ้งและแทนที่ไปอย่างช้าๆ มันเปิดประตูสู่คำถามต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่แหวกขนบที่เคยเป็นมา

ผมคิดถึงรูปถ่ายเก่าๆ ที่แสดงภาพของสิงคโปร์ในช่วงศตวรรษที่ 19 เรามองกลับไปยังอดีตด้วยความรู้สึกตราตรึงใจ พลางคิดกับตัวเองว่าเมืองสิงคโปร์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายขนาดไหนนับตั้งแต่นั้นมา บางที ที่สิงคโปร์ อดีตที่ว่าอาจจะย้อนหลังกลับไปแค่เพียงสิบหรือยี่สิบปีเท่านั้น

_____________

Akai Chew เป็นศิลปินที่ทำงานอยู่ในสิงคโปร์ พื้นหลังทางการศึกษาและการทำงานของเขาที่ครอบคลุมทั้งสถาปัตยกรรม การวางผังเมือง และมรดกทางสถาปัตยกรรมช่วยหล่อหลอมการทำงานศิลปะร่วมสมัยของเขา ในฐานะศิลปิน เขาทำงานภาพถ่ายและศิลปะจัดวางเฉพาะที่เป็นหลัก Akai เรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมมนุษย์สร้างที่ University of Tasmania ในออสเตรเลีย เขามีผลงานจัดแสดงมาแล้วในหลากหลายเมืองนับตั้งแต่สิงคโปร์ บันดัง นิวเดลี ไปจนถึงโฮบาร์ท และ ลอนเซสตัน

instagram.com/_a_kai_

 

PHOTO ESSAY : DIY THAI CHAIRS

TEXT & PHOTO: BARRY MACDONALD

(For English, press here

ผมเป็นช่างภาพ และผมก็ได้ทำการบันทึกภาพบรรดาเก้าอี้ที่ถูกซ่อม หรือวัสดุที่ถูกดัดแปลงให้นั่งได้ตามท้องถนนของประเทศไทย สิ่งเหล่านั้นมองอย่างไรก็เป็นสิ่งที่ชำรุดแล้ว แต่มันกลับไม่ถูกทิ้งขว้าง หากแต่ได้รับการซ่อมแซมด้วยการเชื่อมต่อ ปะติด มอบชีวิตใหม่ให้สิ่งของอีกครั้งหนึ่ง ในสายตาคนบางคน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งที่อาจดูผุพังใช้งานไม่ได้อีกต่อไป แต่ก็ยังมีคนที่เลือกซ่อมแซมมัน เพราะยังมองเห็นโอกาสที่จะใช้งานต่อได้อย่างไม่รู้จบ เราสามารถพบเจอเก้าอี้เหล่านี้ได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นที่เพิงวินมอเตอร์ไซค์หรือตลาด หรือสถานที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ต้องการพักผ่อนแต่ไม่มีอุปกรณ์สาธารณะประโยชน์ตอบสนอง การสร้างที่พักพิงชั่วคราวเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

นักออกแบบและวิศวกรของเก้าอี้ชุดนี้คือกลุ่มคนธรรมดาๆ ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความหลักแหลมของตนรังสรรค์ผลงานเหล่านี้ขึ้นมา ภายใต้ปรัชญาการใช้ซ้ำ (recycling) และนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ (upcycling) ในขณะที่ผลงานที่พวกเขาสร้างขึ้นมีการใช้งานเป็นจุดประสงค์หลัก แต่ถึงอย่างนั้น พวกมันก็ก่อกำเนิดความงามที่แตกต่างออกไป จากเทคนิคการประกอบร่างวัสดุหลายอย่าง เช่นงานไม้ การถักทอ การผูก การเชื่อม การติดกาว การผูกเคเบิล การแกะสลัก การติดเทป การใช้ยางยืด ฯลฯ บางครั้งวัตถุรอบๆ ก็กลายเป็นองค์ประกอบที่ช่วยเสริมความแข็งแรง ราวกับเก้าอี้และท้องถนนผสานหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เช่นเดียวกับเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ผมเคยเห็น ที่วางตัวอยู่ภายในกิ่งไม้ที่กลายเป็นที่วางแขนของมันไปในที่สุด

ของราคาถูกที่พังง่ายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มการสร้างขยะและค่านิยมบริโภคนิยม ศิลปะของการซ่อมแซมสิ่งของที่เราเป็นเจ้าของกำลังล้าสมัย พร้อมๆ กับการที่เหล่าบริษัทผู้ผลิตใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ให้หมดอายุเมื่อผ่านระยะเวลาไปสักประมาณหนึ่ง เก้าอี้เหล่านี้เป็นตัวแทนสัญลักษณ์ของการออกแบบเมือง มันทำงานกับข้อจำกัดที่มาพร้อมความเสียหายและเงื่อนไขที่ไม่ปกติของวัสดุ การสร้างที่นั่งที่ทำให้การนั่งทำงานบนท้องถนนสามารถเป็นไปได้ ทักษะเหล่านี้จึงมีความจำเป็น เพราะในขณะที่เรากำลังเผชิญประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับทรัพยากรในโลกนี้ การมีความคิดและทัศนคติว่าเราควรที่จะซ่อมแซมสิ่งต่างๆ มากกว่าที่จะหาสิ่งใหม่มาแทนที่สิ่งเก่าเสมอจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

ผมคิดว่าทักษะของนักออกแบบธรรมดาเหล่านี้ คือการคิดริเริ่ม ความสามารถในการแก้ปัญหา รวมไปถึงมีความยืดหยุ่น เป็นสิ่งจำเป็นต่อความเป็นไปของประเทศไทย และมันควรได้รับการคำนึงถึงและส่งเสริม เมื่อมีการวางแผนพื้นที่สาธารณะในอนาคต

_____________

แบร์รี่ แมคโดนัลด์ เกิดที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร พ่อของเขาเคยถ่ายรูปด้วยกล้องฟิล์ม 35 มม. เป็นงานอดิเรก และได้สอนวิธีใช้กล้องนี้แก่เขาเมื่อเขายังเด็ก ตอนที่เขาอายุ 15 เขามีกล้องฟิล์มเป็นของตัวเอง สำหรับแบร์รี่ กล้องเป็นช่องทางในการปฏิสัมพันธ์กับโลกในแบบที่เป็นเหตุเป็นผล การจับภาพ สร้างเฟรมและองค์ประกอบขึ้นจากช่วงเวลาๆ หนึ่งอันนำมาซึ่งความพึงใจ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นและคงอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว กล้องได้นำพาให้เขาออกเดินทางและพบเจอผู้คน และเขาก็รู้สึกขอบคุณมันเสมอที่เปลี่ยนชีวิตเขาและช่วยให้เขาเข้าใจโลกในแบบที่มันเป็น

instagram.com/barrymac84

THE GOOD PLACE

ชุดภาพถ่ายสีสันฉูดฉาดของผู้คน สัตว์ สิ่งของที่อยู่ภายในหนังสือเล่มนี้จะนำพาผู้อ่านไปติดตาม 2 ด้านของเมืองพาราณสี ทั้งฝั่งอันศักดิ์สิทธิ์และฝั่งอันเป็นมลทิน Read More

PHOTO ESSAY : SPEND TIME

TEXT & PHOTO: PEERAPAT WIMOLRUNGKARAT

(For English, press here

ไร่แม่ฟ้าหลวง (อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง) เป็นสถานที่ที่ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนทุกครั้ง ที่ขึ้นไปเชียงราย (ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7)

สถานที่แห่งความสุขความทรงจำ ในครั้งแรกที่ได้ขึ้นไปสัมผัสกับความสงบและสง่าของที่แห่งนี้ 

หลายปีก่อนได้มีโอกาสไปร่วมงานแต่งงานของรุ่นพี่ที่เคารพทั้งสองท่าน ครั้งนั้นก็ได้มีคำมั่นกับตัวเอง ว่าครั้งหน้าจะมาเชียงราย และจะต้องกลับมาอีกให้ได้ 

ใครจะคิดว่าคำความคิดวันนั้น ทำให้ผมได้หวนเวียนกลับมาอีกตอนต้นปี 2023 ผมได้มีโอกาสขึ้นมา ที่จังหวัดเชียงราย หลังจากได้ถ่ายงานเสร็จเป็นที่เรียบร้อย ผม อาจารย์ และพี่พี่ ได้มีโอกาสมาชม นิทรรศการ Light of Life ที่จัดขึ้นในช่วงเวลานั้นพอดิบพอดี รวมทั้งบรรยากาศก็ดี ผมได้ถือโอกาส มาชมทั้งเวลาค่ำคืนที่จัดแสงไฟ และตอนกลางวันที่ไม่เปิดแสดงไฟ 

ความสวยงามของไร่แม่ฟ้าหลวงทำให้ผมต้องหลงเสน่ห์ ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการจัดวางชิ้นงานศิลปะ ในแต่ละชิ้น ที่สอดรับขับกล่อมไปกับสวนและอาคารงานสถาปัตยกรรม 

และในครั้งนี้ (2024) ผมได้มีโอกาสใช้เวลากลับมาบันทึกภาพไร่แม่ฟ้าหลวงอย่างจริงจัง และเพลิด เพลินกับงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง เป็นอีกหนึ่งในสถาน ที่จัดแสดงงานของศิลปินหลายท่าน ด้วยพื้นที่ที่เหมาะกับการจัดแสดงงานศิลป์ในรูปแบบต่างๆ แล้ว บรรยากาศในการถ่ายงานครั้งนี้ของผมนั้นเสมือนกับการได้พักผ่อนจิตใจไปในคราวเดียวกัน 

การที่เราให้เวลากับพื้นที่ ให้นาทีกับงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ทำให้เราค่อยๆ ซึมซับพลังงานจากสถานที่ และศิลปิน เหมือนการจิบเครื่องดื่มที่ถูกปาก หอมคอ ในเวลาเดียวกัน 

การที่ได้มีโอกาสเดินและสัมผัสกับธรรมชาติภายในไร่แม่ฟ้าหลวงนั้นทำให้ผมค่อยๆ สังเกตตัวเองในเรื่องการมองโลก การมองพื้นที่ที่เปลี่ยนไป ไม่รีบเร่งและมีการวางแผนสำหรับการถ่ายทำงาน และ เพลินกับงานสถาปัตยกรรม พร้อมกับตั้งคำถามโน่นนี่นั่นไป สัมผัสรอยยิ้มของกลิ่นอายของต้นหญ้า เสียงใบไม้ทักทายกัน สร้างบรรยากาศสุขสงบ ทำให้ผมหลงรักพื้นที่แห่งนี้ขึ้นมา จนรู้สึกว่า “อยากมีบ้านอยู่เชียงรายครับ”

_____________

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ (แอ๊ด) ช่างภาพผู้ชื่นชอบเก็บบันทึกภาพนิ่ง ที่มีความเคลื่อนไหวในความทรงจำ

Leica Ambassador (Thailand)
Architecture photography @somethingarchitecture

facebook.com/somethingarchitecture
facebook.com/addcandid

PHOTO ESSAY : PRATEEP’S VISION V

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: PRATEEP TANGMATITHAM

(For English, press here

อิสรภาพในการเดินทางพลันดับสิ้นไปเมื่อโรคระบาดเข้ามาเยือน โลกตกอยู่ภายใต้ภาวะชะงักงัน สรรพสิ่งหยุดนิ่ง แต่เมื่อฝันร้ายมลายหายไป ชีวิตกลับมาโลดแล่น และผู้คนเริ่มต้นออกเดินทางเช่นเคย แต่การเดินทางในคราวนี้กลับต่างออกไป เพราะภาพทัศน์ที่มองเห็นรอบกายนั้นให้ความรู้สึกสดใหม่ไม่เหมือนเดิม 

หลังวิกฤตการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม หัวเรือใหญ่ของบริษัทศุภาลัย ออกเดินทางซึมซับความงามของโลกกว้างด้วยดวงตาคู่ใหม่ พร้อมบันทึกความประทับใจลงในหนังสือและนิทรรศการภาพถ่ายประทีปทัศน์ 5 ซึ่งสะท้อนทั้งความงามของต้นไม้ภูเขา ทะเล สถาปัตยกรรม ผู้คน และมุมมองของชีวิต ที่ดร.ประทีปสั่งสมมาอย่างยาวนาน

_____________

ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)